วันที่ 29 มกราคม 2564 ที่ศูนย์ห่วงใยคนสาคร 8 ส่วนเพิ่มเติม โครงการวัฒนาแฟคตอรี่  หมู่ที่ 3 ต.พันท้ายนรสิงห์ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร พระเทพสาครมุนีเจ้าคณะจังหวัดสมุทรสาคร เป็นประธานสงฆ์ ในพิธีทำบุญถวายภัตตาหารแก่พระภิกษุสงฆ์ 9 รูป และเจิมป้ายโรงพยาบาลนาม เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และเป็นการทำบุญเสริมสิริมงคล ให้กับนายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ให้หายจากอาการเจ็บป่วย มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงในเร็ววัน ก่อนที่จะส่งมอบให้กับจังหวัดสมุทรสาคร และโรงพยาบาลสมุทรสาคร ดำเนินการนำผู้ติดเชื้อโควิด 19 เข้ามาดูแลรักษา

จากนั้น นายธีรพัฒน์ คัชมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัด รักษาราชการผู้ว่าราชการจังหวัดสมทุรสาคร เป็นประธานพิธีเปิดป้ายและรับมอบศูนย์ห่วงใยคนสาคร แห่งที่ 8 จากนายวัฒนา แตงมณี นายก อบต.พันท้ายนรสิงห์  โดยมี นายสุรศักดิ์ ผลยังส่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ร่วมพิธีรับมอบ พร้อมด้วย ส่วนราชการและแขกผู้มีเกียรติ 

ศูนย์ห่วงใยคนสาคร แห่งที่ 8 โครงการวัฒนาแฟคตอรี่  มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นสถานที่กักตัวผู้ติดเชื้อโควิด-19 ควบคุมการแพร่ระบาดระบาดระลอกใหม่ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร  โดยใช้ที่ดินโครงการวัฒนา แฟคตอรี่ ซึ่งเดิมได้มีการนำโกดังภายในโครงการจัดตั้งเป็นโรงพยาบาลสนาม แห่งที่ 3 รองรับผู้ป่วยได้ จำนวน 240 เตียง  แต่ไม่เพียงพอจึงได้ใช้พื้นที่เพิ่มเติม 8 ไร่ ก่อสร้างเป็นโรงพยาบาลสนาม โดยมีลักษณะเป็นอาคารชั้นเดียว 2 หลัง  สามารถรองรับผู้ติดเชื้อได้ 1,000 เตียง  และมีส่วนพื้นที่แยกสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ มีระบบควบคุมดูแลผู้ติดเชื้อผ่านระบบคอมพิวเตอร์ มีห้องน้ำ ห้องอาบน้ำที่ได้มาตรฐาน รวมถึงระบบน้ำทิ้งที่ถูกสุขลักษณะ พร้อมกันนี้ก็ยังมีพื้นที่อเนกประสงค์เพื่อการจัดสันทนาการสำหรับผู้ติดเชื้ออีกด้วย โดยงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินงาน รวมทั้งสิ้นประมาณ 22 ล้านบาท ใช้ระยะเวลาในการก่อสร้าง  22 วัน 

“ผมอยากฝากไปบอกให้ถึงท่านผู้ว่า วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ว่าผมทำโรงพยาบาลสนามตามที่รับปากกับท่านไว้สำเร็จแล้ว ขอให้ท่านมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงและกลับมาดูความสำเร็จในครั้งนี้” นายวัฒนา แตงมณี

นายธีรพัฒน์ คัชมาตย์ กล่าวว่าโรงพยาบาลสนาม 1000 เตียง วัฒนาแฟคตอรี่  ถือเป็นโรงพยาบาลสนาม หรือศูนย์ห่วงใยคนสาครที่ใหญ่ที่สุด และมีความพร้อมเป็นอย่างมาก หลังจากนี้จะนำผู้ติดเชื้อเข้ามาไว้ภายในตั้งแต่วันที่ 30 ม.ค.เป็นต้นไป สำหรับสถานการณ์โดยรวม เมื่อได้โรงพยาบาลสนาม 1,000 เตียง รวมกับโรงพยาบาลสนามหรือศูนย์ห่วงใยคนสาครในพื้นที่อื่นๆ และยังมีศูนย์ห่วงใยแรงงานสาคร หรือแฟคตอรี่ควอรันทีน( FQ)  จะทำให้การรองรับจำนวนผู้ติดเชื้อที่ตรวจเชิงรุกเป็นไปด้วยความราบรื่น