วันที่ 24 ม.ค.64 เวลา 09.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่สาธารณสุขยังคงทำหารตรวจค้นหาเชิงรุก ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในจังหวัดสมุทรสาครอย่างต่อเนื่อง โดยในวันนี้รถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัย พระราชทาน จำนวน 1 คัน พร้อมด้วยทีมเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ได้ลงพื้นที่ตลาดคลองครุ-ศรีเมือง ต.ท่าทราย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร เพื่อตรวจค้นหาเชิงรุกกลุ่มแม่ค้าพ้อค้าในตลาดจำนวน 100 คน โดยมีนายสิริบูรณ์ ทองบางเกาะ นายก อบต.ท่าทราย พร้อมด้วย รองนายก อบต.ท่าทราย และเจ้าหน้าที่มาช่วยอำนวยความสะดวกเรื่องสถานที่ และการจราจร 

นอกจากนี้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข พร้อมรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัย พระราชทาน ได้ลงพื้นที่ตลาดแม่พ่วง ต.มหาชัย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร เพื่อตรวจค้นหาเชิงรุกในกลุ่มแม่ค้าพ่อค้า และคนงานภายในตลาดแม่พ่วง จำนวน 200 คน ซึ่งครั้งนี้เป็นการตรวจเชิงรุกในรอบที่ 2 

ในส่วนของตลาดกลางกุ้ง ต.มหาชัย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ซึ่งมีแผนในการเปิดตลาดช่วงปลายเดือนมกราคม ได้มีการตรวจเชิงรุกกลุ่มแรงงานเมียนมาจำนวน 1,200 คน เมื่อวันที่ 22 ม.ค.64 โดยทราบผลการตรวจเมื่อวันที่ 23 ม.ค.64 ซึ่งมีการตรวจพบเชื้อโควิด-19 ในแรงงานเมียนมากลุ่มนี้จำนวน 43 ราย และได้นำแรงงานเมียนมาทั้ง 43 ราย เข้ากักตัวที่ศูนย์ห่วงใยคนสาครแห่งที่ 1 (สนามกีฬาจังหวัด) เป็นที่เรียบร้อย 

และช่วงบ่ายวันนี้ (24 ม.ค.64) นายธีรพัฒน์ คัชมาตย์ รอง ผวจ.สค.เปิดเผยข้อมูลตัวเลขการตรวจเชิงรุกกลุ่มแรงงานเมียนมาในตลาดกลางกุ้ง โดยมีการตรวจแลัวทั้งหมด 1,217 คน ผู้ติดเชื้อรวม 75 คน ซึ่งเพิ่มจากผลแล็ปของเมื่อวาน 32 คน โดยมีการส่งตัวผู้ติดเชื้อทั้งหมดเข้ากักตัวที่ศูนย์ห่วงใยคนสาครแห่งที่ 1

สำหรับแผนการเปิดการซื้อขายในตลาดกลางกุ้งนั้น ยังคงขึ้นอยู่กับแผนการและมาตรการต่างๆที่กลุ่มผู้ค้า ผู้ประกอบการภายในตลาด ต้องนำเสนอมายังจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งประกอบไปด้วย 2 ส่วนหลักคือ 1.มาตรการป้องกันเชื้อโควิด-19 ที่ชัดเจน อาทิเช่น การเว้นระยะห่างในช่วงเวลาทำการซื้อขาย การจัดลำดับขึ้นลงสินค้าเพื่อป้องกันการรวมกลุ่ม เป็นต้น 2.มาตรการจัดระเบียบที่พักแรงงานเมียนมา ที่อาศัยอยู่ในตลาดกลางกุ้ง ให้เป็นไปตามหลักสุขอนามัย และข้อกฎหมายโดยกำหนดพื้นที่พักอาศัยแรงงาน 1 คน / 5 ตารางเมตร 

ทั้งนี้มีข้อมูลว่าสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร ได้ตั้งเป้าการตรวจเชิงรุกในสัปดาห์หน้า เพิ่มขึ้นให้ได้ 50,000 ราย เพื่อให้เป็นไปตามแผนของ ศบค. โดยขณะนี้ได้มีการเพิ่มศักยภาพการตรวจผลแล็ปให้ได้ 10,000 รายต่อวัน เพื่อรองรับการปูพรมตรวจเชิงรุกของสมุทรสาคร ทั้งนี้กลุ่มเป้าหมายยังคงเป็นโรงงานอุตสาหกรรมที่มีแรงงานต่างด้าวเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะโรงงานแปรรูปอาหารทะเลขนาดใหญ่ ที่มีการตรวจพบผู้เชื้อเกิน 10 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งต้องมีการตรวจพนักงานทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์ ควบคู่ไปกับการตรวจพื้นที่รอบนอกของจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อรองรับการปลดล็อกให้เร็วที่สุด